วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

NYU Abu Dhabi Info session วันพุธ 8 มิถุนายน 2559


ACE ในฐานะที่เป็นส่วนงานที่ดูแลด้านแนะแนวการศึกษาต่อสหรัฐฯ EducationUSA ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เราตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ชีวิตให้กับเยาวชนไทย รวมถึงการสานเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

ACE-EducationUSA จะได้ต้อนรับเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค วิทยาเขตอาบูดาบี ในโอกาสที่จะมาให้ข้อมูลสถาบัน และทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่สนใจเข้าศึกษากับผู้สนใจในภาคเหนือ ACE-EducationUSA จึงขอเรียนเชิญท่าน อาจารย์แนะแนว และนักเรียนที่สนใจเข้าฟังการให้ข้อมูลของสถาบัน ขั้นตอนการสมัคร การเตรียมตัวสมัคร เทคนิคพิชิตทุน จากเจ้าหน้าที่ของสถาบัน ในงาน

NYU Abu Dhabi 
Info session

วันพุธ 8 มิถุนายน 2559
เวลา 17.30-19.00 น.

โรงแรมอีสทิน เชียงใหม่ ถ.ห้วยแก้ว
(ตรงข้ามกับห้างเมญ่า โทร 052-001999)


ใครควรเข้าร่วมกิจกรรม:
นักเรียนชั้น ม. 4-6 ผู้ปกครองและผู้สนใจทั่วไปที่อยากเรียนระดับปริญญาตรีจากสถาบันของอเมริกา
โอกาสพิเศษเช่นนี้มีไม่บ่อยนัก เข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ที่นั่งมีจำนวนจำกัด 
กรุณาลงทะเบียนล่วงหน้าที่ https://nyuadcm.eventbrite.com
หมายเลขโทรศัพท์ 081.8212686
อีเมล์ infohere.ace@gmail.com หรือ
ACE-EducationUSA 21 ซอย 9 ถ.นิมมานเหมินท์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่




มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค วิทยาเขตอาบูดาบี (NYU ABU DHABI) 

มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค วิทยาเขตอาบูดาบี (NYU Abu Dhabi) เป็นมหาวิทยาลัยหลักสูตร 4 ปี ที่เน้นการวิจัย และเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค โดยมีการแข่งขันสูงมาก​ในการสมัครเข้าศึกษา เราเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยนิวยอร์คใน 22 สาขาวิชาในด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค วิทยาเขตอาบูดาบี เป็นผู้กำหนดมาตรฐานใหม่ของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ด้วยหลักสูตรแบบนวัตกรรมที่เข้มข้น และเน้นการวิจัย ซึ่งออกแบบมาใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการและความท้าทายของศตวรรษที่ 21 


วิทยาเขตมีจำนวนนักศึกษากว่า 100 สัญชาติ และไม่ได้เน้นหนักไปที่นักศึกษาจากประเทศใด หรือภูมิภาคใดหลัก ทำให้มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค วิทยาเขตอาบูดาบี ท้าทายนักศึกษาเพื่อ ให้คิดอย่างสร้างสรรค์ เข้าใจปัญหาที่สลับซับซ้อนจากมุมมองที่หลากหลาย พัฒนาทักษะ การเป็นผู้นำและการสื่อสารกับเพื่อนนักศึกษาและผู้เชียวชาญในสาขาวิชาต่างๆ

นักศึกษาที่เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค วิทยาเขตอาบูดาบี สามารถใช้เวลาระหว่าง การสร้างเสริมประสบการณ์ในระดับปริญญาตรี 4 ปีที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค วิทยาเขตนิวยอร์ค และเซี่ยงไฮ้ รวมถึงที่ศูนย์การศึกษาใน 11 เมืองหลักทั๋วโลก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค วิทยาเขตอาบูดาบี ยังมีความช่วยเหลือด้านการเงินอย่างล้นเหลือให้กับนักศึกษาของสถาบัน โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่านักเรียนระดับหัวกะทิและเก่งที่สุดจากทั่วโลก จะสามารถเข้าศึกษาได้โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินแต่อย่างใด



NEW YORK UNIVERSITY ABU DHABI (NYU ABU DHABI)

NYU Abu Dhabi is a highly selective, four-year research university that is fully integrated into New York University. We offer NYU undergraduate degrees across 22 majors in the sciences, social sciences, engineering, humanities, and the arts. NYU Abu Dhabi is setting a new standard for higher education through a rigorous, innovative, research-based curriculum that has been redesigned for the needs and challenges of the 21st century.


With a student body comprising more than 100 nationalities, and no national or regional majority, NYU Abu Dhabi challenges students to think creatively, understand complex problems from multiple perspectives, develop leadership skills, and communicate with experts and peers across disciplines. Students who attend the Abu Dhabi campus can spend time over their four-year undergraduate experience at NYU's campuses in New York and Shanghai, as well as at academic centers in 11 other major cities around the world. NYU Abu Dhabi offers very generous financial support to its students regardless of their citizenship, ensuring that the best and brightest students from around the world are able to attend, regardless of their financial background.


วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Update วันสอบ TOEFL สนามสอบจังหวัดเชียงใหม่

TOEFL เชียงใหม่ TOEIC ชียงใหม่

รอบสอบ TOEFL Internet-Based (iBT) ที่เชียงใหม่


สำหรับรอบสอบ TOEFL Internet-Based ที่เชียงใหม่ รอบล่าสุดเท่าที่เช็คได้

(พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และ สิงหาคม 2559) 
ศูนย์สอบเชียงใหม่ คือ ตึก HB7 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้น 4 ห้อง 406  มีดังนี้ค่ะ

*อัพเดทค่าสอบล่าสุด $185 นะคะ*


Sat., May 28, 2016

Sat., Jun 25, 2016

Sat., Jul 09, 2016

Sun., Jul 10, 2016

Sat., Aug 06, 2016


(ข้อมูลจากเว็บ ETS ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2559)

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หลักสูตรการเรียนในอเมริกา

หลักสูตรการเรียนในอเมริกา



การศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา

การศึกษาในระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกามีชื่อเสียงในด้านคุณภาพระดับชั้นแนวหน้า เข้าถึงได้ง่าย มีความหลากหลายและความยืดหยุ่น โดยมีสถาบันการศึกษามากมายหลายแห่งทั้งของรัฐบาลและเอกชน ซึ่งบางแห่งเป็นสถาบันการศึกษาอิสระ
 
มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ
มหาวิทยาลัยรัฐบาลก่อตั้งขึ้นและได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยมีอัตราค่าเล่าเรียนต่ำกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน และพลเมืองของรัฐ (ผู้ที่มาจากรัฐนั้น) จะชำระค่าเล่าเรียนต่ำกว่าพลเมืองนอกรัฐ โดยปกติจะมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนมากกว่า 20,000 คน นักศึกษานานาชาติจะได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มพลเมืองนอกรัฐ และอาจต้องผ่านเกณท์การรับเข้าเรียนที่สูงกว่านักศึกษาของรัฐนั้น

สถาบันการศึกษาเอกชน
สถาบันการศึกษาเอกชนมีแหล่งเงินทุนจากเงินบริจาค ค่าเล่าเรียน เงินสนับสนุน และเงินบริจาคจากศิษย์เก่า ค่าเล่าเรียนจะมีอัตราสูงกว่ามหาวิทยาลัยแห่งรัฐ และไม่มีการแยกประเภทระหว่างพลเมืองของรัฐหรือนอกรัฐ สถาบันการศึกษาเหล่านี้จะมีจำนวนนักศึกษาน้อยกว่ามหาวิทยาลัยแห่งรัฐ สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาซึ่งมีจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาเป็นสถาบันการศึกษาของเอกชน

วิทยาลัยชุมชน
วิทยาลัยชุมชนเปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาสองปี รวมถึงหลักสูตรด้านเทคนิคหรืออาชีวศึกษา โดยอาจเป็นวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชน แต่มักจะมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่มีบทบาทในชุมชนโดยรอบ โดยทั่วไปจะมีค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่า และหลายแห่งมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถโอนหน่วยการเรียนไปยังชั้นปีที่สามของหลักสูตรระดับปริญญาตรี

วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษา
วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นเพื่อฝึกอบรมนักศึกษาสำหรับวิชาชีพเฉพาะด้านหรือวิธีใช้ทักษะความชำนาญเฉพาะด้านและมีระยะเวลาเรียนสองปีหรือน้อยกว่า


ปฏิทินการศึกษา
ปีการศึกษาของมหาวิทยาลัยเริ่มต้นในเดือนกันยายนและสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม โดยแบ่งเป็นสองภาคเรียน รวมถึงภาคเรียนฤดูร้อนที่มีความเข้มข้นและระยะเวลาสั้นกว่า ภาคเรียนฤดูร้อนจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้กระจายจำนวนวิชาเรียนที่ต้องเรียนในหลักสูตร หรือเพื่อสำเร็จวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีในเวลาที่สั้นขึ้น

ประเภทของหลักสูตร

หลักสูตรสอนภาษาอังกฤษ
มีหลักสูตรภาษาอังกฤษ 3 ประเภทหลักในสหรัฐอเมริกา ได้แก่:
• หลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเร่งรัด (IEP): เรียนภาษาอังกฤษ 20 ถึง 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
• หลักสูตรภาษาอังกฤษกึ่งเร่งรัด: นักศึกษาจะเรียนทั้งหลักสูตรวิชาการระดับมหาวิทยาลัยรวมถึงหลักสูตรภาษาอังกฤษกึ่งเร่งรัด (ESL) ที่สถาบันการศึกษาเดียวกัน
• หลักสูตรภาษาอังกฤษวิชาชีพ: รวมหลักสูตรการเรียนสาขาภาษาอังกฤษธุรกิจหรือสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น กฏหมาย หรือ วิศวกรรมศาสตร์

เพื่อให้มีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการขอวีซ่านักศึกษาเพื่อการเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษในสหรัฐอเมริกา คุณควรตรวจสอบว่าสถาบันการศึกษานั้นได้รับอนุญาตจากหน่วยงานบริการพลเมืองและตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหรัฐอเมริกา (USCIS) สถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะทุกแห่งจะสามารถมอบแบบฟอร์ม I-20 แก่นักศึกษาเพื่อการสมัครขอวีซ่านักศึกษา F-1

ขั้นตอนการรับเข้าเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขการรับสมัคร และวันปิดรับสมัครของตนเอง กรุณาตรวจสอบกับสถาบันการศึกษาที่คุณสนใจจะเข้าเรียน
โดยตรง

วิทยาลัยชุมชน
สำหรับนักศึกษานานาชาติ การเรียนที่วิทยาลัยชุมชนจะเป็นเส้นทางเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย โดยในบางครั้งจะเรียกว่า จูเนียร์คอลเลจ หรือ วิทยาลัยสองปี สถาบันการศึกษาเหล่านี้เปิดสอนหลักสูตรฝึกอบรมทั้งด้านอาชีวศึกษาและเทคนิค ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าสู่อาชีพการทำงานได้โดยตรงในสาขาอาชีพ เช่น วิศวกรรมยานยนต์ การออกแบบภายใน การพัฒนาเด็ก วิทยาศาสตร์อาหาร การถ่ายภาพ ฯลฯ รวมถึงหลักสูตรด้านวิชาการ ที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถโอนหน่วยกิตการเรียนไปได้ถึงครึ่งหนึ่งของหลักสูตรการเรียนสี่ปีในระดับปริญญาตรี

มีวิทยาลัยชุมชนมากกว่า 1,200 แห่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายแห่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือมลรัฐ นักศึกษานานาชาติจะชำระค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนที่วิทยาลัยชุมชน แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการเรียน 4 ปีที่วิทยาลัยในเขตพื้นที่เดียวกัน

เกณท์คุณสมบัติผู้สมัคร
วิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งจะมีเกณท์การรับเข้าเรียนของตนเอง ซึ่งคุณจะพบว่าวิทยาลัยชุมชนมีความยืดหยุ่นในนโยบายการรับเข้าเรียนกว่าสถาบันการศึกษาอื่น ๆ อย่างมาก
ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย / ประกาศนียบัตรนานาชาติ นักศึกษานานาชาติต้องสำเร็จการศึกษา 12 ปี ในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนที่จะสมัครเข้าเรียนวิทยาลัยชุมชนของสหรัฐอเมริกา กรุณาตรวจสอบกับสถาบันการศึกษาของคุณเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาเพื่อการเข้าเรียนโดยตรงในหลักสูตรระดับปริญญาตรี
ความรู้ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้คุณต้องส่งผลคะแนน TOEFL (การทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ) โดยปกติข้อกำหนดคะแนน TOEFL ของวิทยาลัยชุมชนจะต่ำกว่าสถาบันการศึกษา 4 ปี

ขั้นตอนการรับเข้าเรียนของวิทยาลัยชุมชน
สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งกำหนดวันปิดรับสมัครของตนเอง ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม โดยอาจเป็นช่วงก่อนหรือหลังจากนั้น แต่จะเป็นการดีหากคุณส่งใบสมัครแต่เนิ่นๆ
ทำการสมัครไปยังสถาบันการศึกษาโดยตรง โดยประกอบด้วยเอกสารต่อไปนี้
• แบบฟอร์มใบสมัคร
• ค่าธรรมเนียมการสมัคร
• เอกสารรับรองการเรียน โดยปกติจะเรียกว่า ใบรับรองผลการเรียน
• ผลการสอบความรู้ภาษาอังกฤษ (TOEFL)
• วิทยาลัยชุมชนบางแห่งอาจต้องการเอกสารทางการเงินเพื่อยืนยัน

การศึกษาระดับปริญญาตรี
การศึกษาระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา โดยส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นฐานปรัชญาทางด้านศิลปศาสตร์ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะมีเส้นทางการเรียนเช่นไร คุณจะได้รับความรู้จากวิชาเรียนอันหลากหลายในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษา และวิทยาศาสตร์กายภาพ

วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา โดยปกติจะเรียกว่า Bachelor's degree ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง และเปิดโอกาสให้คุณสามารถเลือกเส้นทางการเรียนของตัวเองได้ วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจะมอบให้คุณหลังจากที่คุณได้รับหน่วยกิตตามที่กำหนด ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาเรียน 4 ปี แต่ละวิชาเรียนจะมีจำนวนหน่วยกิตตามที่กำหนดระหว่าง 3 ถึง 4 หน่วยกิต เพื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี คุณต้องได้รับหน่วยกิตระหว่าง 130 ถึง 180 หน่วยกิต

หลักสูตรปริญญาตรีส่วนใหญ่จะประกอบด้วยวิชาเรียน 4 ประเภท 
  • วิชาบังคับเป็นวิชาเรียนภาคบังคับที่กำหนดโดยสถาบันการศึกษา และจะรวมวิชาเรียนอันหลากหลายในสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และคณิตศาสตร์ 
  • วิชาเอกเป็นวิชาเรียนที่คุณเลือกเพื่อมุ่งเน้นในสาขาวิชานั้นๆและมีสัดส่วนระหว่าง 25 เปอร์เซ็นต์ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนวิชาเรียนทั้งหมดในหลักสูตรปริญญาตรีของคุณ 
  • วิชารองเป็นสาขาวิชาเรียนที่คุณมุ่งเน้นเป็นอันดับสอง โดยปกติจะมีสัดส่วนหน่วยกิตเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของวิชาเอก 
  • วิชาเลือกสามารถเลือกเรียนได้จากทุกแผนกวิชาและเป็นจำนวนหน่วยกิตส่วนที่เหลือเพื่อสำเร็จการศึกษา

เกณท์คุณสมบัติผู้สมัคร
ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย / ประกาศนียบัตรนานาชาติ นักศึกษานานาชาติต้องสำเร็จการศึกษา 12 ปี ในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนที่จะสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา
ความรู้ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้คุณต้องส่งผลคะแนน TOEFL (การทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ) มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจยอมรับผลการสอบความรู้ภาษาอังกฤษอื่น ๆ เช่น IELTS กรุณาตรวจสอบกับทางมหาวิทยาลัยว่าความรู้ทางภาษาอังกฤษชนิดใดเป็นที่ยอมรับก่อนทำการสมัคร
การสอบวัดมาตรฐานอื่น ๆ มหาวิทยาลัยบางแห่งกำหนดให้นักศึกษานานาชาติต้องผ่านการสอบเพื่อการรับเข้าเรียน โดยมีการสอบวัดผลหลัก 3 ประเภทเพื่อการเข้าเรียนระดับปริญญาตรี ได้แก่ SAT-I (การสอบประเมินผลด้านการศึกษา) SAT-II การสอบวัดผลรายวิชาและ ACT (การสอบวิทยาลัยอเมริกัน) โดยเป็นการสอบแบบปรนัยและเป็นการวัดทักษะที่จำเป็นสำหรับการเข้าเรียนระดับปริญญาตรี กรุณาตรวจสอบกับมหาวิทยาลัยที่คุณจะสมัครว่าการสอบวัดผลชนิดใด (หากมี) ที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการ

ขั้นตอนการสมัครระดับปริญญาตรี
คุณควรเริ่มต้นกระบวนการสมัครระหว่าง 12 ถึง 18 เดือนก่อนวันเริ่มต้นการศึกษา เพื่อทำการค้นคว้าหาข้อมูลของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และทำการสอบที่จำเป็น หลังจากที่คุณได้คัดเลือกสถาบันการศึกษาที่ต้องการสมัครเรียนแล้วจึงเตรียมการสมัคร

สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งกำหนดวันปิดรับสมัครของตนเอง ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม โดยอาจเป็นช่วงก่อนหรือหลังจากนั้น แต่จะเป็นการดีหากคุณส่งใบสมัครแต่เนิ่น ๆ

ทำการสมัครไปยังสถาบันการศึกษาโดยตรง โดยประกอบด้วยเอกสารต่อไปนี้
• แบบฟอร์มใบสมัคร
• ค่าธรรมเนียมการสมัคร
• เอกสารรับรองการเรียน โดยปกติจะเรียกว่า ใบรับรองผลการเรียน
• ผลคะแนนสอบ (TOEFL, SAT-I, SAT-II)
• จดหมายแนะนำตัวซึ่งคุณต้องระบุอย่างชัดเจนถึงเป้าหมายการเรียนและความสำเร็จ
• จดหมายรับรอง โดยปกติจะเขียนโดยอาจารย์ผู้สอนหรือนายจ้างที่สามารถบอกเล่าเกี่ยวกับการทำงานและศักยภาพของคุณ
• มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจต้องการเอกสารทางการเงินเพื่อยืนยันว่าคุณมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการเรียนระดับปริญญาตรีของคุณ
โดยปกติคุณจะได้รับจดหมายตอบรับเข้าเรียนภายในกลางเดือนเมษายนสำหรับการเริ่มต้นเรียนในเดือนกันยายน
การศึกษาระดับบัณฑิต
มีวุฒิการศึกษาระดับบัณฑิต สองประเภทที่เปิดสอนในสหรัฐอเมริกา: ปริญญาโท และ ปริญญาเอก

• ปริญญาโทวิชาการ
วุฒิการศึกษาปริญญาโทศิลปศาสตร์ (MA) หรือปริญญาโทวิทยาศาสตร์ (MSc) จะมอบให้หลังจากการเรียน 2 ปีที่รวมการทำงานประจำวิชาและการวิจัย งานประจำวิชาจะมีจำนวนหน่วยกิตระหว่าง 30 ถึง 60 หน่วย รวมถึงการทำวิทยานิพนธ์และ/หรือการสอบปากเปล่า โดยสามารถนำไปสู่การเรียนต่อระดับปริญญาเอกได้โดยตรง
• ปริญญาโทวิชาชีพ
วุฒิการศึกษาปริญญาโทประเภทนี้ จะนำไปสู่วุฒิการศึกษาวิชาชีพสาขาเฉพาะด้าน และไม่รวมถึงการเรียนต่อในระดับปริญญาเอก เป็นวุฒิการศึกษา เช่น MBA (ปริญญาโทบริหารธุรกิจ) MEd (ปริญญาโทครุศาสตร์) MSW (ปริญญาโทสังคมสงเคราะห์) MFA (ปริญญาโทวิจิตรศิลป์) ฯลฯ หลักสูตรเหล่านี้จะมีหน่วยกิตการเรียน 36 ถึง 48 หน่วยและไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์

ปริญญาเอก
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตเป็นวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด ซึ่งกำหนดให้นักศึกษาผลิตผลงานวิจัยริเริ่มที่มีความสำคัญ เขียนดุษฎีนิพนธ์และนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ การทำงานระดับปริญญาเอกอาจใช้เวลาตั้งแต่ 5 ถึง 8 ปี รวมถึงวุฒิการศึกษาปริญญาเอกวิชาชีพ เช่น EdD (ปริญญาเอกครุศาสตร์) DBA (ปริญญาเอกบริหารธุรกิจ) ที่รวมการทำงานประจำวิชาและการวิจัยไว้ในหลักสูตร

เกณท์คุณสมบัติผู้สมัคร
มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยปกติจะกำหนดให้คุณต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีระยะเวลาเรียน 4 ปีแล้ว เพื่อการเข้าเรียนหลักสูตรระดับปริญญาโท
การสอบเพื่อการรับเข้าเรียน ที่ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก บางแผนกวิชาอาจกำหนดให้คุณต้องผ่านการสอบ GRE (การสอบวัดเชาวน์ปัญญาระดับบัณฑิต) หรือ GMAT (การสอบวิชาเฉพาะสาขาบริหารธุรกิจ) โดยอาจมีการสอบอื่นๆ เช่น MAT (การสอบเปรียบเทียบ Miller) เพื่อการเรียนในสาขาครุศาสตร์หรือจิตวิทยา รวมถึงการสอบเฉพาะสาขาวิชา เพื่อการเรียนสาขาแพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น กรุณาตรวจสอบกับสถาบันการศึกษาว่ามีข้อกำหนดการสอบประเภทใด นอกจากนี้คุณยังต้องแสดงหลักฐานความรู้ภาษาอังกฤษโดยการส่งผลคะแนน TOEFL หรือผลการสอบความรู้ภาษาอังกฤษอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับ

ขั้นตอนการสมัครระดับบัณฑิต
คุณควรเริ่มต้นกระบวนการสมัครระหว่าง 12 ถึง 18 เดือนก่อนวันเริ่มต้นการเรียน เพื่อทำการค้นคว้าหาข้อมูลของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และทำการสอบที่จำเป็น รวมถึงหาข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสเงินทุน และทุนการศึกษาต่าง ๆ หลังจากที่คุณได้คัดเลือกสถาบันการศึกษาที่ต้องการสมัครเรียนแล้วจึงเตรียมการสมัคร
สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งกำหนดวันปิดรับสมัครของตนเอง ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม โดยอาจเป็นช่วงก่อนหรือหลังจากนั้น แต่จะเป็นการดีหากคุณส่งใบสมัครแต่เนิ่น ๆ

ทำการสมัครไปยังสถาบันการศึกษาโดยตรง โดยประกอบด้วยเอกสารต่อไปนี้
• แบบฟอร์มใบสมัคร
• ค่าธรรมเนียมการสมัคร
• เอกสารรับรองการเรียน: สำเนาที่ผ่านการรับรองของประกาศนียบัตรต้นฉบับ ปริญญาบัตรหรือตำแหน่งงานและใบรับรองผลการเรียนของมหาวิทยาลัย (เกรดที่ได้รับ)
• ผลคะแนน (GRE, GMAT, MAT, TOEFL หรืออื่นๆ)
• จดหมายแนะนำตัวซึ่งคุณต้องระบุอย่างชัดเจนถึงเป้าหมายการเรียนและความสำเร็จ
• จดหมายรับรอง โดยปกติจะเขียนโดยอาจารย์ผู้สอนหรือนายจ้างที่สามารถบอกเล่าเกี่ยวกับการทำงานและศักยภาพของคุณ
• มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจต้องการเอกสารทางการเงินเพื่อยืนยันว่าคุณมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการเรียนของคุณ
• มหาวิทยาลัยบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิชาธุรกิจจะทำการสัมภาษณ์ผู้สมัครระหว่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่หรือศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยอาจเป็นผู้ทำการสัมภาษณ์

โดยปกติคุณจะได้รับจดหมายตอบรับเข้าเรียนภายในกลางเดือนเมษายนสำหรับการเริ่มต้นเรียนในเดือนกันยายน

หลักสูตรออนไลน์
หลักสูตรออนไลน์ จะรวมวิธีการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ และหลายหลักสูตรสามารถเรียนทั้งหลักสูตรในประเทศของคุณ ดังนั้นคุณอาจสามารถสำเร็จการเรียนทั้งหลักสูตรได้โดยไม่ต้องเดินทางมายังประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ หรือสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปหรือการสัมมนาเลย ขณะที่อีกหลายหลักสูตรอาจกำหนดให้คุณต้องเข้าเรียนในห้องเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ หรือสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา หรือที่สถาบันการศึกษาพันธมิตรในประเทศของคุณ กรุณาตรวจสอบกับสถาบันการศึกษาที่คุณจะเลือกเรียนว่าหลักสูตรนั้น ๆ เป็นแบบออนไลน์ 100% หรือกำหนดให้เข้าเรียนในห้องเรียนด้วย

มีทางเลือกการเรียนทั้งแบบเต็มเวลาและนอกเวลา ซึ่งทั้งสองแบบคุณจะได้รับความช่วยเหลือผ่านสื่อการเรียนหลากหลายประเภท อาทิเช่น เอกสารการเรียน และอินเตอร์เน็ต คุณจะสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาคนอื่น ๆ ด้วยจดหมาย อีเมล์ หรือทางออนไลน์ ผ่านทางการประชุมวิดีโอทางไกลและโปรแกรมสนทนา

คุณสามารถเรียนหลักสูตรได้ทุกระดับ เช่น ประกาศนียบัตร อนุปริญญาระดับปริญญาตรี และปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาโทบริหารธุรกิจ และวุฒิการศึกษาวิชาชีพ ผ่านทางการเรียนออนไลน์

คุณสมบัติผู้สมัคร
เงื่อนไขการรับสมัครสำหรับหลักสูตรออนไลน์จะแตกต่างกันตามแต่ละสถาบันการศึกษา และวุฒิการศึกษาที่คุณสนใจเรียน ข้อกำหนดเหล่านี้ได้รับการออกแบบเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อคุณได้รับเข้าเรียนแล้ว คุณจะสามารถบริหารจัดการการเรียนของคุณได้อย่างประสบผลสำเร็จ สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่กำหนดให้คุณต้องมีระดับความรู้ภาษาอังกฤษที่ดี เนื่องจากวิธีการสอนเนื้อหาหลักสูตรและวิธีการประเมินผลงานของคุณ
 

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

6 สิ่งต้องทำ!! หากอยากได้ทุนไปเรียนนอกฟรี ๆ

ช่วงนี้มีทุนการศึกษาให้ไปเรียนต่อออกมาเยอะมากทีเดียวเลยค่ะ ปัญหาหนึ่งที่น้อง ๆ หลายคนเจอคือ "ไม่รู้จะเตรียมตัวยังไง ไม่รู้จะเริ่มจัดการอะไรก่อน" สุดท้ายก็พลาดโอกาสในการสมัครขอรับทุนนั้นไปอย่างน่าเสียดายมาก ยิ่งบางทุนไม่ได้มีแจกทุกปี ยิ่งน่าเสียดายคูณสิบเท่าทีเดียว เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะมาพูดเรื่อง ..... อยากได้ทุนไปเรียนต่อเมืองนอก ควรเตรียมตัวยังไงดี?

นั่นสินะ ควรจะเตรียมตัวยังไงดีให้พร้อมกับการสมัครขอทุน วันนี้มีคำตอบดีๆ มาฝากค่ะ

1. ฝึกภาษาอังกฤษเข้าไว้

คำถามยอดฮิตที่ถามกันทุกวันคือ 
"ไม่เก่งอังกฤษจะไปเรียนต่อนอกได้มั้ย? ไม่เก่งอังกฤษจะสอบชิงทุนได้มั้ย?" 


- ถ้าบ้านของน้องส่งไปเอง ออกค่าใช้จ่ายเอง ยังไงน้องก็มีโอกาสได้อยู่แล้วค่ะ พูดตรง ๆ แบบไม่อ้อมค้อมเลยว่า "เงิน" สามารถช่วยจัดการหลาย ๆ อย่างได้ (ในระดับหนึ่ง) เช่น น้องสมัครเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองนอกโดยจะออกเงินเอง ไม่ได้ขอทุน โดยที่มีคะแนนสอบภาษาอังกฤษพวก TOEFL หรือ IELTS ไม่ค่อยดีนัก มหาวิทยาลัยเขาจะยังไม่ปฏิเสธน้องทีเดียวเลยหรอกค่ะ แต่เขาจะยื่นข้อเสนอหรือ offer มาก่อนว่า "จะรับเข้าเรียนโดยต้องไปสอบ TOEFL หรือ IELTS ใหม่อีกรอบให้ผ่านตามคะแนนที่กำหนด" ดังนั้นหากเราไปสอบมาใหม่ให้ได้คะแนนดีขึ้น จ่ายค่าเทอม แค่นี้ก็ได้ไปเรียนแล้ว

หรือในอีกกรณี หากน้องสมัครเรียนผ่านเอเจนซี่ ไม่มีเอเจนซี่ที่ไหนตอบกลับมาหรอกว่า "โอ๊ย ภาษาไม่ดี ไปเรียนนอกไม่ได้หรอกค่าาาา" เพราะเท่ากับว่าเอเจนซี่นั้นจะเสียลูกค้าไปแน่ ๆ แต่เอเจนซี่จะช่วยหาโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีเงื่อนไขสูงมากนัก ที่พอจะรับคนที่ไม่เก่งภาษามากเข้าไปเรียนได้ เพราะยังไงเอเจนซี่ก็ต้องรักษาฐานลูกค้าไว้ก่อน

- ถ้าน้องจะสมัครทุนหรือสอบชิงทุน ขอตอบเลยว่า "ไม่น่ารอดค่ะ" ทุนมีให้สำหรับคนที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งคำว่า "เหมาะสมที่สุด" นั้น ก็รวมไปถึงความเก่งทางวิชาการและรวมถึงภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งจะสะท้อนผ่านคะแนน TOEFL หรือ IELTS ที่เราต้องใช้ยื่นเพื่อสมัครทุน บอกเลยว่า TOEFL หรือ IELTS นี่ไม่ง่ายค่ะ บางคนต้องติวเป็นปีก่อนไปสอบ ดังนั้นใครไม่เก่งภาษาอังกฤษ พี่ว่าจะไปสมัครทุนหรือสอบชิงทุนนี่ โอกาสได้น้อยมาก ๆ

ดังนั้นหากน้องมีโอกาสได้ไปเจอเพื่อนที่ได้ทุน และเพื่อนบอกกับน้องว่า "เราเองก็ไม่เก่งหรอกนะ" ให้เชื่อเถอะว่า เขาถ่อมตัวค่ะ

แล้วจะฝึกภาษายังไงดี??? น้อง ๆ ที่อยู่เชียงใหม่ หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อพี่ๆ TeamAce! ได้นะคะ


2. ต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ

คะแนนที่ว่านั้นก็คือ TOEFL หรือ IELTS ที่เขียนไว้แล้วในข้อแรกนั่นเอง หลาย ๆ คนอาจจะยังงง ๆ ว่าคืออะไร?

- TOEFL (อ่านว่า โทเฟิล) และ IELTS (อ่านว่า ไอเอลท์) เป็นผลการทดสอบวัดความรู้ความสามารถภาษาอังกฤษเชิงวิชาการที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก มหาวิทยาลัยที่ไหน ๆ ในโลกก็ยอมรับคะแนนพวกนี้ ดังนั้นน้อง ๆ ที่คิดจะโกอินเตอร์แน่นอน "ต้องสอบเก็บไว้"

- TOEFL มีการสอบหลายแบบ เช่น สอบด้วยคอมพิวเตอร์ สอบด้วยกระดาษ แต่วิธีที่นิยมที่สุดในปัจจุบันคือสอบด้วยอินเตอร์เน็ต เราเรียกว่า TOEFL iBT โดยมีคะแนนเต็มที่ 120 คะแนน มหาวิทยาลัยส่วนมากมักกำหนดที่ 70 คะแนนขึ้นไป แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยดังระดับโลก จะเรียกที่ 100 คะแนนขึ้นไปค่ะ สำหรับคนที่คิดจะสอบไว้สมัครทุนต่าง ๆ พี่ว่าควรได้อย่างต่ำที่ 80 ขึ้นไปนะคะ สามารถสมัครสอบได้ที่ www.toefl.org ค่าสอบปัจจุบันอยู่ที่ 185 USD (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 6 พันกว่าบาทค่ะ *ต้องการคำแนะนำสมัครสอบ ติดต่อ TeamAce 081-8212686*

- ส่วน IELTS มีคะแนนเต็มที่ 9.0 มหาวิทยาลัยทั่วไปจะเรียกที่ 5.5 คะแนนขึ้นไป แต่ถ้ามหาวิทยาลัยดัง ๆ ก็จะกำหนดไว้ที่ 7.0 ค่ะ สำหรับคนที่คิดจะสอบไว้สมัครทุนต่าง ๆ ควรได้ 6.0 ขึ้นไป สามารถสมัครสอบได้ที่ British Council ค่าสอบอยู่ที่ประมาณ 6 พันกว่าบาทค่ะ

- ทั้ง TOEFL และ IELTS ข้อสอบจะมี 4 พาร์ทคือ ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยน้องต้องแน่นทั้ง 4 พาร์ท จะเก่งพูดแต่ไม่เก่งอ่านก็ไม่ได้ เพราะบางมหาวิทยาลัยก็จะมีเงื่อนไขคะแนนด้วย เช่น คะแนนสอบ IELTS แต่ละส่วนจะมีคะแนนเต็มที่ 9.0 จากนั้นจะนำมาหาร 4 เพื่อสรุปเป็นคะแนนตัวจริง

     แต่บางมหาวิทยาลัยก็จะกำหนดว่า คะแนน IELTS ต้องได้ 6.5 ขึ้นไป โดยไม่มีพาร์ทไหนได้ต่ำกว่า 6.0 ดังนั้นต่อให้บางคนได้พาร์ทการพูด การเขียน การฟังเต็ม 9.0 แต่ได้พาร์ทอ่านแค่ 5.0 แบบนี้ก็ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์มหาวิทยาลัยนั้นค่ะ (โหดมั้ยล่ะนั่น)

- คะแนนจะเก็บไว้ใช้ได้ 2 ปี ส่วนมากจัดสอบเดือนละ 2-4 ครั้ง ผลสอบจะออกหลังสอบประมาณ 2 สัปดาห์

- คนส่วนมากนิยมไปสมัครคอร์สติว TOEFL หรือ IELTS ก่อนสอบ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าค่อนข้างยาก ค่าสอบก็แพง ดังนั้นบางคนจึงยอมจ่ายแพงเสียเงินไปติวเพื่อความชัวร์ สอบทีเดียวจะได้ผ่านเลย

- แล้วจะเลือกสอบอะไรดี? ถ้าน้องคิดจะไปเรียนที่อเมริกา ควรสอบ TOEFL ค่ะ แต่หากจะไปแถบยุโรปหรือออสเตรเลีย ควรสอบ IELTS เพราะจะเป็นที่นิยมมากกว่า (แต่จริงๆ มันแทนกันได้ค่ะ)

***คำแนะนำจากพี่คือ ใครคิดจะสมัครทุนจริง ๆ น้องควรต้องไปสอบเก็บไว้จริง ๆ นะ มันเป็นอะไรที่สำคัญมากกกก เพราะบางทุนให้ระยะเวลาในการสมัครเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น!! ซึ่งพอถึงเวลานั้น น้องอยากได้ทุนนี้มาก แต่น้องก็ต้องชวดแน่นอน เพราะถึงน้องไปสมัครสอบ TOEFL หรือ IELTS แต่กว่าผลจะออกก็ 2 สัปดาห์แล้ว ดังนั้นไปสอบเก็บไว้ล่วงหน้าเถอะพี่ขอร้อง***


สอบ TOEIC แทนได้มั้ย?? TOEIC เป็นข้อสอบภาษาอังกฤษที่มักใช้วัดความสามารถก่อนเข้าทำงาน ดังนั้นนิสิตนักศึกษาจะนิยมสอบกันค่อนข้างเยอะค่ะ มีคะแนนเต็มที่ 990 คะแนนค่ะ ข้อสอบไม่ยากมาก แถมค่าสอบก็ไม่แพง แค่พันกว่าบาทเท่านั้น

แต่!! จุดประสงค์ของข้อสอบ TOEIC จะต่างจาก TOEFL/IELTS เพราะ TOEIC จะเน้นเพื่อเข้าทำงานซะมากกว่า ดังนั้นมหาวิทยาลัยในอเมริกาและยุโรปจึงไม่พิจารณาคะแนน TOEIC ค่ะ แต่พี่เองก็เคยเห็นพวกทุนการศึกษาบางทุนในแถบเอเชีย อนุโลม ให้ใช้ TOEIC ในการยื่นสมัครด้วย เพราะฉะนั้นน้องๆ ก็ควรไปสอบตัวนี้เก็บไว้ด้วยนะ

นอกจากนี้ยังมี SAT เป็นผลสอบอีกตัวหนึ่งที่ "น้อง ๆ ที่อยากไปเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา" ควรมีไว้ค่ะ ดังนั้นพวกทุนต่าง ๆ ที่จะให้ไปเรียนอเมริกามักกำหนดว่าต้องมีผลสอบ SAT ด้วย และยังมีหลักสูตรอินเตอร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงที่ไทยก็กำหนดด้วยว่าให้ใช้ผลสอบ SAT ในการยื่นสมัคร หรือแม้แต่บางมหาวิทยาลัยในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ก็กำหนดให้ใช้ SAT ในการสมัครเข้าเรียนเหมือนกัน ดังนั้นใครคิดว่าพอไหวก็ลองไปสอบนะ


3. สอบวัดระดับภาษาอื่น ๆ ที่จำเป็น

น้องๆ ที่คิดจะไปเรียนต่อในประเทศที่ใช้ภาษาที่ 3 ต้องอ่านไว้ค่ะ โดยเฉพาะเกาหลี จีน ญี่ปุ่น น้อง ๆ ควรไปสอบวัดระดับภาษานั้น ๆ เก็บไว้ เพราะบางทุนกำหนดว่า "ต้องมีคะแนนวัดระดับของภาษานั้น ๆ" ประกอบในการยื่นสมัครด้วย หรือบางทุนไม่ได้บังคับว่าต้องมี แต่ทุนนั้น ๆ มักจะลงท้ายว่า "ผู้ที่มีผลคะแนนวัดระดับของภาษานั้น ๆ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ" แล้วแบบนี้จะไม่ไปสอบเก็บไว้ได้ยังไงล่ะ??


ตัวอย่าง ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (ปริญญาตรี) กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครไว้ว่าต้องเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- มีผลการเรียนเฉลี่ย 3.80 ขึ้นไป
- มีผลการเรียนเฉลี่ย 3.30 ขึ้นไปและมีผลสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นระดับ 1 หรือ 2
- มีผลการเรียนเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไปและมีผลสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นระดับ 3 หรือ 4

น้องๆ หลายคนที่เกรดไม่ถึง 3.80 ก็ต้องชวดทุนนี้ไปอย่างน่าเสียดายมากกกก แหม ถ้ามีผลสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นไปยื่นด้วยก็สบายเลย น่าเสียดายมากค่ะ นี่คือตัวอย่าง ว่าทำไมเราถึงควรไปสอบวัดระดับภาษานั้น ๆ เก็บเอาไว้

- การสอบวัดระดับภาษาจีน (HSK) จัดสอบปีละ 2 ครั้ง กลางปีและปลายปี สมัครได้ที่ มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง สำนักงานกรุงเทพ

- การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (JLPT) จัดสอบปีละ 2 ครั้ง กรกฎาคมและธันวาคม สมัครได้ที่ โรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น

- การสอบวัดระดับภาษาเกาหลี (TOPIK) จัดสอบปีละครั้ง ตุลาคม สมัครได้ที่ โรงเรียนนานาชาติเกาหลี

นั่นก็คือกำหนดการการสอบคร่าว ๆ นะคะ ขอย้ำเลยว่าควรต้องสอบเก็บไว้และติดตามข่าวให้ดีว่าเขาจะเปิดรับสมัครเมื่อไหร่


4. เตรียมเอกสารให้พร้อม!!


มาถึงหมวดเอกสารบ้าง เอกสารที่ใช้ในการสมัครทุนต่างๆ นั้นมีเยอะทีเดียวค่ะ จึงจะขอแนะนำตามนี้


เอกสารที่ต้องขอจากโรงเรียน

- ใบแสดงผลการศึกษา หรือเรียกง่าย ๆ ว่าทรานสคริปต์ คือใบที่จะบอกว่าเกรดแต่ละวิชาในแต่ละระดับชั้นที่ผ่านมา เราได้เท่าไหร่บ้าง หรือใบปพ.1 นั่นเองค่ะ

- ใบรับรองสภาพการเป็นนักเรียนหรือใบรับรองการจบการศึกษา คือใบที่ทางโรงเรียน
จะรับรองว่า เรานี่แหละมีสภาพเป็นนักเรียนของโรงเรียนนี้จริง ๆ หรือหากน้องเพิ่งเรียนจบมา มันก็จะกลายเป็นใบที่รับรองว่าเราจบการศึกษาจากโรงเรียนนี้จริง ๆ นะ

เอกสารทั้ง 2 ใบนี้สำคัญมากกกกค่ะ น้องสามารถขอได้จากฝ่ายทะเบียนของโรงเรียน และควรขอเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ (ถ้าโรงเรียนสามารถทำให้ได้)

คำแนะนำคือ ให้น้องขอไว้ทีเดียวอย่างละ 5-6 ใบเลยค่ะ เพราะบางทีเกิดอาการหลายใจ ทุนนั้นก็น่าสมัคร ทุนนี้ก็น่าสนใจ เราจะได้ไม่ต้องกลับไปขอใหม่บ่อย ๆ เสียเวลาเปล่า ๆ ให้ขอมาทีเดียวเยอะเลยค่ะ นอกจากนี้ อย่างที่บอกไปแล้วว่าบางทุนเปิดให้สมัครแค่ 2 สัปดาห์ แล้วดันตรงกับช่วงปิดเทอมพอดี แย่เลย เพราะบางโรงเรียนก็ดำเนินการช้ามาก ใช้เวลาทีเป็นสัปดาห์กว่าจะเสร็จ ดังนั้นน้องควรไปขอมาตุนไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ

เอกสารที่เป็นของเราเอง

- สูติบัตร หรือใบรับรองการเกิด หลายคนคงสงสัยว่าทำไมพวกทุนการศึกษาถึงต้องขอใบนี้ด้วย?? คำตอบก็คือ เขาขอเพื่อไปดู "ความสัมพันธ์ระหว่างเราและบิดามารดา" ว่าพ่อแม่เราชื่อนี้จริง ๆ มั้ย พ่อแม่เราสัญชาติไทยจริง ๆ หรือเปล่า ดังนั้นสูติบัตรเป็นอีกใบที่ต้องใช้ค่ะ หากของใครอยู่ในสภาพที่เน่ามาก น้อง ๆ สามารถไปขอคัดสำเนาสูติบัตรได้ที่สำนักงานเขตค่ะ

- ทะเบียนบ้าน ส่วนมากจะใช้หน้าที่มีชื่อเรานั่นเอง

- หนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต บางทุนกำหนดว่าผู้สมัครต้องส่งสำเนาพาสปอร์ตไปให้ดูด้วย เพื่อดูว่าเรามีสัญชาติไทยจริง ๆ มั้ย แต่หากใครไม่มีพาสปอร์ตจริง ๆ อาจจะใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนแทนได้ เพราะเดี๋ยวนี้ก็เป็นภาษาอังกฤษกันหมดแล้ว


เอกสารที่ต้องนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ

เอาล่ะ เตรียมเอกสารสำคัญกันในมือครบแล้ว เอ๊ะ เอกสารที่เรามีมันเป็นภาษาไทยหมดเลย ทำไงดี?? แน่นอนค่ะว่า ทางทุนเค้าอ่านไม่ออกแน่ ๆ ดังนั้นเราจึงต้องนำเอกสารทั้งหมดไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ

- น้อง ๆ ควรนำไปแปลตามร้านรับแปลเอกสารต่าง ๆ หาได้ทั่วไป ใช้เวลา 1-2 วันเท่านั้น เอกสารที่ควรนำไปแปลคือ เอกสารที่ต้องเน้นความแม่นยำและถูกต้อง แบบว่า แปลผิดไม่ได้เด็ดขาด นั่นก็คือเอกสารราชการค่ะ เช่น ใบสูติบัตร ใบทะเบียนบ้าน (ไม่แนะนำให้แปลเองนะคะ เพราะแปลผิดขึ้นมาเดี๋ยวจะยุ่ง) ใช้เวลาแปล 2-3 วัน ค่าแปลหน้าละประมาณ 300 - 500 บาท

- เมื่อแปลเสร็จเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาแล้ว ต้องมีการรับรองว่าเอกสารที่แปลนั้นถูกต้อง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมการกงสุล น้อง ๆ สามารถอ่านวิธีการยื่นคำร้องรับรองเอกสารได้ที่นี่ค่ะ คลิกเลย ซึ่งหากน้องเกิดแปลเองและแปลผิด ทางกรมการกงสุลจะติดต่อกลับมาว่าแปลผิดนะ ใช้ไม่ได้ ซึ่งก็จะยิ่งเสียเวลามากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงควรให้ร้านรับแปลเอกสารแปลให้แต่แรกน่าจะดีกว่าค่ะ

- ส่วนเอกสารอื่น ๆ เช่น ใบแสดงผลการศึกษา ใบรับรองสภาพการเป็นนักเรียน หากโรงเรียนไม่สามารถออกเป็นภาษาอังกฤษได้จริง ๆ  น้องก็ควรนำไปให้ร้านรับแปลเอกสารแปลเหมือนกัน แต่ไม่ต้องนำไปรับรองที่กรมการกงสุลนะคะ

- พอร์ตฟอลิโอ หรือ ใบประกาศนียบัตร ที่เคยได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ซีเรียส แปลเองได้ ไม่ต้องไปจ้างร้านรับแปลเอกสารก็ได้ค่ะ

***ทั้งหมดนี้สำคัญมากนะคะ อยากให้น้อง ๆ เตรียมเอกสารในมือให้พร้อมไว้ล่วงหน้าเลย หลายคนสมัครทุนไม่ทันก็เพราะติดปัญหาเรื่องเอกสารนี่แหละค่ะ***


5. คิดดี ๆ อยากเรียนที่ไหน?

หากเป็นทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย เราคงไม่ต้องคิดมาก เพราะหากได้ทุนมา ก็ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนั้นอยู่แล้ว แต่สำหรับทุนรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เช่น ทุนรัฐบาลเกาหลี ทุนรัฐบาลจีน ทุน 1 อำเภอ 1 ทุน เราสามารถเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเรียนเองได้ค่ะ ซึ่งก็จะมีคำถามตามมา "พี่คะ หนูอยากเรียนด้านการเงินที่จีน มหาวิทยาลัยไหนดีและดังบ้าง?"


สิ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ตัวนี้ให้เราได้ก็คือ RANKING หรือการจัดอันดับค่ะ น้อง ๆ สามารถค้นหาจากกูเกิ้ลได้ไม่ยาก เช่น "TOP FINANCE PROGRAM IN CHINA" เพียงเท่านี้ กูเกิ้ลก็จะช่วยหาคำตอบให้เราได้แล้วค่ะ ดังนั้นน้อง ๆ ควรศึกษาล่วงหน้าไว้บ้างว่า สาขาที่เราอยากเรียนนั้นมีที่ใดดังบ้าง จะได้มีเป้าหมายมากขึ้นว่าเราอยากเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไหน


6. ค้นหาทุนที่อยากได้

ในโลกนี้มีทุนเยอะมากค่ะ ทั้งทุนยอดฮิตที่คนแย่งกันสมัคร และทุนที่ไม่ค่อยฮิตฮิตที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ก็แจกจริงให้จริงเหมือนกัน ดังนั้นหากเรารู้จักแหล่งรวบรวมทุนเด็ด ๆ ล่ะก็ โอ้วววว สวรรค์เลย

นั่นก็คือ 6 ขั้นตอนในการเตรียมตัวก่อนสมัครขอทุนนะคะ อยากให้น้องๆ ลองนำไปใช้กัน ขอให้ได้ทุนไปเรียนต่อสมใจกันทุกคนเลยจ้า!!




วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

TOEFL สนามจำลอง mini-TOEFL Test เชียงใหม่

รอบสอบ mini-TOEFL 

ประจำเดือนพฤษภาคม 2559 



วันพุธที่ 4 พ.ค. เวลา 13.00 - 14.00 น.

วันศุกร์ที่ 6 พ.ค. เวลา 17.00 - 18.00 น.

วันเสาร์ที่ 7 พ.ค. เวลา 13.00 - 14.00 น.

วันพุธที่ 11 พ.ค. เวลา 13.00 - 14.00 น.

วันศุกร์ที่ 13 มี.ค. เวลา 17.00 - 18.00 น.

วันพุธที่ 18 พ.ค. เวลา 13.00 - 14.00 น.

วันเสาร์ที่ 21 พ.ค. เวลา 13.00 - 14.00 น.

วันพุธที่ 25 พ.ค. เวลา 13.00 - 14.00 น.

วันศุกร์ที่ 27 พ.ค. เวลา 17.00 - 18.00 น.

วันเสาร์ที่ 28 พ.ค. เวลา 13.00 - 14.00 น.




ค่าสอบ ท่านละ 100 บาท

  • สามารถชำระค่าสอบได้ 20 นาทีก่อนขึ้นห้องสอบ
  • จัดสอบตามวันและเวลาที่กำหนด
  • ความยากเท่ากับสอบ TOEFL สนามจริง
  • สามารถแปลงคะแนนได้ ว่าหากไปสอบ TOEFL, IELTS, TOEIC สนามจริง จะได้กี่คะแนน
  • สามารถสอบเพื่อวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ หรือ สอบเพื่อลงทะเบียนเรียนกับ Ace!
  • สอบเสร็จแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่โทรแจ้งคะแนนภายใน 2 วัน
  • จัดสอบที่อาคาร Ace! @ Nimman soi 9 



ลงทะเบียนสอบล่วงหน้าได้ที่ http://bit.ly/1PRRfRR

มารู้จักประเภทของ “ทุนเรียนต่อต่างประเทศ” กัน

เพราะเรื่องของค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ “ทุนการศึกษา” เป็นอีกหนทางหนึ่งของนักเรียนต่างชาติ วันนี้จะมาเล่าเรื่องทุนเรียนต่อต่างประเทศให้ฟัง ว่ามีกี่ประเภท น้อง ๆที่อยากขอทุนแต่ไม่เคยขอมาก่อน หรือ ไม่แน่ใจว่า อย่างฉันนี่จะสมัครทุนกับเขาได้ไหม วันนี้จะมาแจงให้ฟังรวมถึงแนะนำ เคล็ดลับค้นหาทุน ข้อควรรู้ เมื่อรู้แล้วจะได้ดูทุนเป็นและเพิ่มโอกาสในการไปเรียนต่ออย่างสบายกระเป๋าด้วยจ้า



ประเภทของทุนการศึกษา
ไม่ใช่ว่าทุนการศึกษาที่แต่ละประเทศมอบให้นั้น จะเหมือนกันเสมอไปนะคะ ทุนแต่ละอันมีกฎเกณฑ์มากมาย อาจมีความแตกต่างในเรื่องของรายละเอียด สัญญาผูกมัด รวมถึงเงินสนับสนุน

1.      ทุนแบบเต็มจำนวน


ทุนประเภทนี้ เป็นทุนการศึกษาที่เราชอบมากที่สุด เหตุผลนั้นแสนหวาน เพราะทุนครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่าง ๆ เรียกว่าออกให้หมด ภายในงบประมาณที่ทางเจ้าของทุนกำหนด ทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นอันนี้

ตัวอย่างทุน
Australian Development Scholarships (ADS) ที่มอบทุนการศึกษาจำนวนหลายทุนให้แก่นักศึกษาต่างชาติ ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก โดยทุนนั้นครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ รวมค่าที่พัก ค่าครองชีพ และค่าประกันสุขภาพ เป็นต้น


2.      ทุนแบบให้บางส่วน


เรียกอีกอย่างว่าทุนแบบไม่เต็มจำนวนนั่นเอง เป็นทุนที่เราจะต้องออกเงินในบางส่วนเองด้วย เช่น เจ้าของทุนจะจ่ายค่าเล่าเรียนให้เพียงแค่บางส่วน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เราต้องออกเอง เช่น ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นต้น เปรียบเหมือนไปเดทแล้ว ช่วยออกแต่ไม่ทั้งหมด (ก็ยังดีกว่าไม่ได้ช่วยออกเลย)
ซึ่งทุนของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศต่างๆ มักจะเป็นทุนในลักษณะเช่นนี้

ตัวอย่างทุน
            Business School MBA Scholarship (ของ Essex Business School) ประเทศอังกฤษ ที่จะให้เงินทุนจำนวน 1,000 ปอนด์ แก่นักต่างชาติที่ต้องการจะมาศึกษา MBA ในสถาบัน   โดยจำนวนเงินนี้ผู้ได้ทุนจะนำไปหักออกจากค่าเล่าเรียนทั้งหมด หรืออีกความหมายคือ ได้ส่วนลด 1,000 ปอนด์นั่นเอง


3.      ทุนแบบที่มีภาระผูกพัน



โดยทุนแบบที่มีภาระผูกพันนั้น ก็คือ ทุนที่มีการกำหนดเงื่อนไขบางประการเอาไว้ เช่น จะต้องกลับมาทำงานในองค์กรของผู้ที่ให้เงินทุน หรือ ในระหว่างการศึกษานั้นจะต้องเรียนให้ได้ผลเรียนตามที่เจ้าของทุนกำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับทุนต่อ พูดง่ายๆ “เธอสัญญาแล้วนะว่าจะกลับมา” “สัญญานะว่าจะเป็นเด็กดี”
            ทุนลักษณะนี้มักเป็นทุนการศึกษาแบบที่เด็กไทยอย่างเรารู้จักกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทุน KING หรือทุนเล่าเรียนหลวง ที่มอบให้กับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศโดยไม่จำกัดสาขาวิชาเรียน และประเทศที่ไปเรียน แต่มีภาระผูกพัน คือ จะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเท่ากับจำนวนปีที่ใช้ในการศึกษา ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานในหน่วยงานทางราชการ) เป็นต้น

4.      ทุนแบบไม่มีภาระผูกพัน
เป็นทุนการศึกษาแบบทุนให้เปล่า หมายถึง มอบทุนให้ฟรี ๆ โดยที่ผู้สมัครไม่มีภาระทำอะไรคืนให้องค์กรเจ้าของเงินทุน หรือไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม

5.      ทุนประเภทอื่น ๆ
มีทุนการศึกษาบางประเภทที่มีลักษณะนอกเหนือไปจากทุนแบบอื่น ซึ่งที่พบได้บ่อยๆคือ ทุนแบบที่นักเรียนจะขอได้ ก็ต่อเมื่อสามารถสมัครและเข้าไปเรียนหรือเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือ ภาควิชานั้น ๆ แล้ว ซึ่งหมายความว่า ถ้าหลังจากที่เรายื่นขอทุนไปแล้ว แล้วเราไม่ได้ สิ่งที่เราต้องทำ คือ จ่ายค่าเล่าเรียนเองทั้งหมด หรือไม่ก็ต้องกลับบ้าน


เคล็ดลับการหาทุน
            ด้วยความที่ทุนการศึกษามันมีมากมายซะเหลือเกิน จะทำยังไงถึงจะได้ทุนกับเค้าบ้าง วันนี้ จะมาแชร์เคล็ดลับดี ๆ สำหรับใช้ในการวางแผนการหาทุนกันค่ะ
           
1. สังเกตประเภทของทุน
น้องๆต้องดูก่อนเลยว่าทุนนั้นๆเป็นทุนที่แจกเฉพาะนักเรียนต่างชาติ (International students) หรือ แจกรวม ๆ เพื่อน้อง ๆ จะได้รู้ว่าจะต้องไปแข่งขันกับใคร รวมถึงโอกาสในการได้มากน้อยแค่ไหน

2. อ่านขั้นตอนการสมัครให้เข้าใจ
ควรอ่านขั้นตอนวิธีการในการสมัครให้เข้าใจจริง ๆ และถ้าไม่เข้าใจ ให้ส่งอีเมล์ไปยังสถาบันการศึกษานั้น ๆ เพื่อถามโดยตรง เพราะบางครั้ง ถ้าถามจากเพื่อน หรือ คนที่เคยขอทุนอาจได้ข้อมูลที่ผิดหรือไม่ทันสมัยพอ ต้องเช็คเพื่อนความชัวร์

3. ทำ Leadtime
คือการทำ plan คร่าว ๆ ว่าเราจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างสำหรับการยื่นทุนนั้น ๆ และเอกสารเหล่านั้นจะได้ครบเมื่อไหร่ รวมถึงต้องสมัครภายในวันไหน โดยควรจะต้องยื่นก่อน deadline ประมาณ 1 เดือน หรือถ้าเร็วกว่านั้นได้ก็ยิ่งดี เพราะเผื่อมีอะไรผิดพลาด จะได้สามารถส่งเอกสารไปใหม่ได้
วิธีการนี้จะเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับทุนการศึกษาที่มีข้อกำหนดให้มีการสมัครด้วยการ “ส่งไปรษณีย์” อย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันจะทำให้น้อง ๆ วางแผนได้ถูกและเผื่อเวลาในการจัดส่งเอกสารด้วย
โดยช่วงเวลาของทุนนั้น ส่วนใหญ่จะปล่อยออกมาช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน และมักจะทยอยออกมาเรื่อย ๆ ส่วนเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มักจะเป็นช่วง deadline ของทุน เพราะมหาวิทยาลัยเริ่มเปิดเทอม   

แต่ทั้งนี้ เรื่องของวันเวลาในการรับสมัครของแต่ละทุนนั้น อาจะไม่เป็นไปตามนี้เสมอไป เพราะทุนบางของบางองค์กรหรือบางสถาบันมีการบริหารจัดการเป็นของตัวเอง ก็จะทำให้ช่วงเวลาในการรับสมัครแตกต่างไปจากนี้ค่ะ

4.ทำ check list เพื่อตรวจสอบเอกสารให้พร้อม


เอกสารที่ต้องเตรียมในการขอทุน ซึ่งโดยมากต้องใช้แน่ๆ คือ
  • ใบรับรองผลการศึกษา
  • ผลการวัดระดับความสามารถทางภาษา TOEFL, IELTS, TOEIC, GRE หรือ ความสามารถเฉพาะทางต่าง ๆ แล้วแต่ทุนกำหนด 
  • Letter of recommendation 

คือ จดหมายรับรองหรือแนะนำตัว อาจจะเป็นจดหมายแนะนำตัวจากมหาวิทยาลัย หรือรับรองจากหน่วยงานที่เคยทำงาน เป็นต้น แนะนำว่าควรมี
1) จดหมายเพื่อความน่าเชื่อถือ เช่น คณบดีของสาขาที่เราจบมา เนื่องจากเราใช้เอกสารในการพูดแทนตัวเรา นอกจากผลการเรียนแล้ว จดหมายจากบุคคลที่มีตำแหน่งสูงจะเป็นสิ่งที่รับรองว่าเราเป็นใครมาจากไหน
2) จดหมายเพื่อพูดถึงเราในแง่ความสามารถและความดีของเรา โดยคนที่เขียนควรมีความใกล้ชิดกับเราพอสมควร เพื่อให้เราสามารถพูดถึงข้อดี ประสบการณ์ หรือผลงานของเราออกมาได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถพูดถึงคุณลักษณะนิสัยส่วนตัวของเราได้อีกด้วย โดยมากมักจะให้อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้เขียนให้
  • Statement of Purpose 

คือ เรียงความหรือบทความที่บอกให้มหาวิทยาลัยหรือเจ้าของทุนเข้าใจว่าทำไมเราจึงสมควรได้ทุนนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการได้รู้จักเรามากขึ้น เอกสารนี้จึงถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก เอกสารที่เราใช้ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานในอดีตที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ประวัติการศึกษา หรือ จดหมายรับรองซึ่งเราก็ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาได้ ดังนั้น Statement of Purpose จึงเป็นเพียงเอกสารเดียวที่เปิดโอกาสให้เราได้พูดกับคณะกรรมการ

ความมุ่งมั่นหรือความตั้งใจของเราจะเป็นสิ่งที่ทำให้ใบสมัครของเราโดดเด่นออกมา เช่น เรามีฝันที่ยิ่งใหญ่ในสาขาหรือในสายอาชีพนั้น ๆ หรือ เรามีแนวคิดในการพัฒนางานในสาขานั้น ๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจในอดีตที่เคยมีมาก็คือ มีนักศึกษาจากประเทศตะวันออกกลางคนหนึ่งที่ผลการเรียนไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่เธอกลับได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เนื่องจากเธอเขียนเรียงความว่า “เธอฝันที่จะเป็นนักการเมืองและต้องการใช้ความรู้ด้านกฎหมายและการปกครอง ไปเปลี่ยนความไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงในสังคมตะวันออกกลาง” เป็นต้น

5. อย่าสมัครแค่ทุนเดียว 
เช่นเดียวกับการสมัครเรียนมหาวิทยาลัย ที่เราควรจะสมัครขอไว้เผื่อประมาณ 2-3 ทุน ในสาขาที่ใกล้เคียงกัน เพราะเนื่องจากการเตรียมเอกสารจะได้ทำเพียงแค่รอบเดียว แต่ยื่นได้หลายแห่ง

6.จงมุ่งมั่น
สุดท้ายคือ น้อง ๆ ต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่น และต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง การไม่ได้ทุนในการขอครั้งแรกไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาด อย่าเพิ่งท้อ และพยายามต่อไปค่ะ