วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มารู้จักประเภทของ “ทุนเรียนต่อต่างประเทศ” กัน

เพราะเรื่องของค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ “ทุนการศึกษา” เป็นอีกหนทางหนึ่งของนักเรียนต่างชาติ วันนี้จะมาเล่าเรื่องทุนเรียนต่อต่างประเทศให้ฟัง ว่ามีกี่ประเภท น้อง ๆที่อยากขอทุนแต่ไม่เคยขอมาก่อน หรือ ไม่แน่ใจว่า อย่างฉันนี่จะสมัครทุนกับเขาได้ไหม วันนี้จะมาแจงให้ฟังรวมถึงแนะนำ เคล็ดลับค้นหาทุน ข้อควรรู้ เมื่อรู้แล้วจะได้ดูทุนเป็นและเพิ่มโอกาสในการไปเรียนต่ออย่างสบายกระเป๋าด้วยจ้า



ประเภทของทุนการศึกษา
ไม่ใช่ว่าทุนการศึกษาที่แต่ละประเทศมอบให้นั้น จะเหมือนกันเสมอไปนะคะ ทุนแต่ละอันมีกฎเกณฑ์มากมาย อาจมีความแตกต่างในเรื่องของรายละเอียด สัญญาผูกมัด รวมถึงเงินสนับสนุน

1.      ทุนแบบเต็มจำนวน


ทุนประเภทนี้ เป็นทุนการศึกษาที่เราชอบมากที่สุด เหตุผลนั้นแสนหวาน เพราะทุนครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่าง ๆ เรียกว่าออกให้หมด ภายในงบประมาณที่ทางเจ้าของทุนกำหนด ทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นอันนี้

ตัวอย่างทุน
Australian Development Scholarships (ADS) ที่มอบทุนการศึกษาจำนวนหลายทุนให้แก่นักศึกษาต่างชาติ ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก โดยทุนนั้นครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ รวมค่าที่พัก ค่าครองชีพ และค่าประกันสุขภาพ เป็นต้น


2.      ทุนแบบให้บางส่วน


เรียกอีกอย่างว่าทุนแบบไม่เต็มจำนวนนั่นเอง เป็นทุนที่เราจะต้องออกเงินในบางส่วนเองด้วย เช่น เจ้าของทุนจะจ่ายค่าเล่าเรียนให้เพียงแค่บางส่วน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เราต้องออกเอง เช่น ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นต้น เปรียบเหมือนไปเดทแล้ว ช่วยออกแต่ไม่ทั้งหมด (ก็ยังดีกว่าไม่ได้ช่วยออกเลย)
ซึ่งทุนของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศต่างๆ มักจะเป็นทุนในลักษณะเช่นนี้

ตัวอย่างทุน
            Business School MBA Scholarship (ของ Essex Business School) ประเทศอังกฤษ ที่จะให้เงินทุนจำนวน 1,000 ปอนด์ แก่นักต่างชาติที่ต้องการจะมาศึกษา MBA ในสถาบัน   โดยจำนวนเงินนี้ผู้ได้ทุนจะนำไปหักออกจากค่าเล่าเรียนทั้งหมด หรืออีกความหมายคือ ได้ส่วนลด 1,000 ปอนด์นั่นเอง


3.      ทุนแบบที่มีภาระผูกพัน



โดยทุนแบบที่มีภาระผูกพันนั้น ก็คือ ทุนที่มีการกำหนดเงื่อนไขบางประการเอาไว้ เช่น จะต้องกลับมาทำงานในองค์กรของผู้ที่ให้เงินทุน หรือ ในระหว่างการศึกษานั้นจะต้องเรียนให้ได้ผลเรียนตามที่เจ้าของทุนกำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับทุนต่อ พูดง่ายๆ “เธอสัญญาแล้วนะว่าจะกลับมา” “สัญญานะว่าจะเป็นเด็กดี”
            ทุนลักษณะนี้มักเป็นทุนการศึกษาแบบที่เด็กไทยอย่างเรารู้จักกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทุน KING หรือทุนเล่าเรียนหลวง ที่มอบให้กับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศโดยไม่จำกัดสาขาวิชาเรียน และประเทศที่ไปเรียน แต่มีภาระผูกพัน คือ จะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเท่ากับจำนวนปีที่ใช้ในการศึกษา ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานในหน่วยงานทางราชการ) เป็นต้น

4.      ทุนแบบไม่มีภาระผูกพัน
เป็นทุนการศึกษาแบบทุนให้เปล่า หมายถึง มอบทุนให้ฟรี ๆ โดยที่ผู้สมัครไม่มีภาระทำอะไรคืนให้องค์กรเจ้าของเงินทุน หรือไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม

5.      ทุนประเภทอื่น ๆ
มีทุนการศึกษาบางประเภทที่มีลักษณะนอกเหนือไปจากทุนแบบอื่น ซึ่งที่พบได้บ่อยๆคือ ทุนแบบที่นักเรียนจะขอได้ ก็ต่อเมื่อสามารถสมัครและเข้าไปเรียนหรือเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือ ภาควิชานั้น ๆ แล้ว ซึ่งหมายความว่า ถ้าหลังจากที่เรายื่นขอทุนไปแล้ว แล้วเราไม่ได้ สิ่งที่เราต้องทำ คือ จ่ายค่าเล่าเรียนเองทั้งหมด หรือไม่ก็ต้องกลับบ้าน


เคล็ดลับการหาทุน
            ด้วยความที่ทุนการศึกษามันมีมากมายซะเหลือเกิน จะทำยังไงถึงจะได้ทุนกับเค้าบ้าง วันนี้ จะมาแชร์เคล็ดลับดี ๆ สำหรับใช้ในการวางแผนการหาทุนกันค่ะ
           
1. สังเกตประเภทของทุน
น้องๆต้องดูก่อนเลยว่าทุนนั้นๆเป็นทุนที่แจกเฉพาะนักเรียนต่างชาติ (International students) หรือ แจกรวม ๆ เพื่อน้อง ๆ จะได้รู้ว่าจะต้องไปแข่งขันกับใคร รวมถึงโอกาสในการได้มากน้อยแค่ไหน

2. อ่านขั้นตอนการสมัครให้เข้าใจ
ควรอ่านขั้นตอนวิธีการในการสมัครให้เข้าใจจริง ๆ และถ้าไม่เข้าใจ ให้ส่งอีเมล์ไปยังสถาบันการศึกษานั้น ๆ เพื่อถามโดยตรง เพราะบางครั้ง ถ้าถามจากเพื่อน หรือ คนที่เคยขอทุนอาจได้ข้อมูลที่ผิดหรือไม่ทันสมัยพอ ต้องเช็คเพื่อนความชัวร์

3. ทำ Leadtime
คือการทำ plan คร่าว ๆ ว่าเราจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างสำหรับการยื่นทุนนั้น ๆ และเอกสารเหล่านั้นจะได้ครบเมื่อไหร่ รวมถึงต้องสมัครภายในวันไหน โดยควรจะต้องยื่นก่อน deadline ประมาณ 1 เดือน หรือถ้าเร็วกว่านั้นได้ก็ยิ่งดี เพราะเผื่อมีอะไรผิดพลาด จะได้สามารถส่งเอกสารไปใหม่ได้
วิธีการนี้จะเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับทุนการศึกษาที่มีข้อกำหนดให้มีการสมัครด้วยการ “ส่งไปรษณีย์” อย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันจะทำให้น้อง ๆ วางแผนได้ถูกและเผื่อเวลาในการจัดส่งเอกสารด้วย
โดยช่วงเวลาของทุนนั้น ส่วนใหญ่จะปล่อยออกมาช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน และมักจะทยอยออกมาเรื่อย ๆ ส่วนเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มักจะเป็นช่วง deadline ของทุน เพราะมหาวิทยาลัยเริ่มเปิดเทอม   

แต่ทั้งนี้ เรื่องของวันเวลาในการรับสมัครของแต่ละทุนนั้น อาจะไม่เป็นไปตามนี้เสมอไป เพราะทุนบางของบางองค์กรหรือบางสถาบันมีการบริหารจัดการเป็นของตัวเอง ก็จะทำให้ช่วงเวลาในการรับสมัครแตกต่างไปจากนี้ค่ะ

4.ทำ check list เพื่อตรวจสอบเอกสารให้พร้อม


เอกสารที่ต้องเตรียมในการขอทุน ซึ่งโดยมากต้องใช้แน่ๆ คือ
  • ใบรับรองผลการศึกษา
  • ผลการวัดระดับความสามารถทางภาษา TOEFL, IELTS, TOEIC, GRE หรือ ความสามารถเฉพาะทางต่าง ๆ แล้วแต่ทุนกำหนด 
  • Letter of recommendation 

คือ จดหมายรับรองหรือแนะนำตัว อาจจะเป็นจดหมายแนะนำตัวจากมหาวิทยาลัย หรือรับรองจากหน่วยงานที่เคยทำงาน เป็นต้น แนะนำว่าควรมี
1) จดหมายเพื่อความน่าเชื่อถือ เช่น คณบดีของสาขาที่เราจบมา เนื่องจากเราใช้เอกสารในการพูดแทนตัวเรา นอกจากผลการเรียนแล้ว จดหมายจากบุคคลที่มีตำแหน่งสูงจะเป็นสิ่งที่รับรองว่าเราเป็นใครมาจากไหน
2) จดหมายเพื่อพูดถึงเราในแง่ความสามารถและความดีของเรา โดยคนที่เขียนควรมีความใกล้ชิดกับเราพอสมควร เพื่อให้เราสามารถพูดถึงข้อดี ประสบการณ์ หรือผลงานของเราออกมาได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถพูดถึงคุณลักษณะนิสัยส่วนตัวของเราได้อีกด้วย โดยมากมักจะให้อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้เขียนให้
  • Statement of Purpose 

คือ เรียงความหรือบทความที่บอกให้มหาวิทยาลัยหรือเจ้าของทุนเข้าใจว่าทำไมเราจึงสมควรได้ทุนนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการได้รู้จักเรามากขึ้น เอกสารนี้จึงถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก เอกสารที่เราใช้ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานในอดีตที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ประวัติการศึกษา หรือ จดหมายรับรองซึ่งเราก็ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาได้ ดังนั้น Statement of Purpose จึงเป็นเพียงเอกสารเดียวที่เปิดโอกาสให้เราได้พูดกับคณะกรรมการ

ความมุ่งมั่นหรือความตั้งใจของเราจะเป็นสิ่งที่ทำให้ใบสมัครของเราโดดเด่นออกมา เช่น เรามีฝันที่ยิ่งใหญ่ในสาขาหรือในสายอาชีพนั้น ๆ หรือ เรามีแนวคิดในการพัฒนางานในสาขานั้น ๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจในอดีตที่เคยมีมาก็คือ มีนักศึกษาจากประเทศตะวันออกกลางคนหนึ่งที่ผลการเรียนไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่เธอกลับได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เนื่องจากเธอเขียนเรียงความว่า “เธอฝันที่จะเป็นนักการเมืองและต้องการใช้ความรู้ด้านกฎหมายและการปกครอง ไปเปลี่ยนความไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงในสังคมตะวันออกกลาง” เป็นต้น

5. อย่าสมัครแค่ทุนเดียว 
เช่นเดียวกับการสมัครเรียนมหาวิทยาลัย ที่เราควรจะสมัครขอไว้เผื่อประมาณ 2-3 ทุน ในสาขาที่ใกล้เคียงกัน เพราะเนื่องจากการเตรียมเอกสารจะได้ทำเพียงแค่รอบเดียว แต่ยื่นได้หลายแห่ง

6.จงมุ่งมั่น
สุดท้ายคือ น้อง ๆ ต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่น และต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง การไม่ได้ทุนในการขอครั้งแรกไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาด อย่าเพิ่งท้อ และพยายามต่อไปค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น